หากจะพูดถึงคริปโตเราก็คงจะนึกถึงการเทรด หรือซื้อมาขายไปเพื่อเก็งกำไรกันเป็นส่วนใหญ่ แต่การทำกำไรในตลาดคริปโตยังมีมากกว่านั้น ด้วยระบบ Blockchain Technology ที่ทำให้การเงินสามารถกระจายอำนาจ และไม่ถูกควบคุมโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Decentralized Finance (DeFi) ขึ้นมา และหนึ่งในการลงทุนของ DeFi ก็คือการทำ Yield Farming นั่นเอง ส่วนการทำ Yield Farming จะมีรายละเอียดอย่างไร และผลตอบแทนนั้นได้จริงไหม เขาเอาเงินที่ไหนมาจ่ายนักลงทุน และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง สามารถตามไปอ่านกันในบทความนี้ได้เลย…
Yield Farming คืออะไร ?
Yield Farming คือหนึ่งในวิธีการสร้างผลตอบแทนในระบบการเงินแบบกระจายอำนาจ ซึ่งรูปแบบก็จะคล้ายกับการที่เรานำเงินไปฝากธนาคารแล้วได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนนั่นแหละ แต่คราวนี้เราเปลี่ยนเป็นการนำเหรียญคริปโตไปฝากไว้ในแพลตฟอร์ม DeFi แทน
ซึ่งแพลตฟอร์ม Defi ส่วนใหญ่จะเปิดขึ้นมาโดยที่ไม่ได้มีทุน หรือเม็ดเงินกองเอาไว้เพื่อบริหารสภาพคล่องด้วยตัวเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีการเปิดให้ทำ Yield Farming เพราะคนที่เข้าไปทำ Yield Farming เท่ากับว่าเป็นการเอาเหรียญคริปโตของเราไปฝากไว้กับแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกันสินทรัพย์ดิจิทัลของเราเหล่านั้นที่เอาไปฝากไว้ก็จะเพิ่มสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์ม DeFi นั้นด้วย และแพลตฟอร์มก็จะให้ผลตอบแทนเราเป็นการแลกเปลี่ยนนั่นเอง
ซึ่งโมเดลนี้เรียกว่า Automated Market Maker (AMM) เป็นโมเดลที่มักจะใช้กันในพวก Decentralized Exchange (DEX) หรือ แพลตฟอร์ม DeFi ที่ให้บริการ Swap (แลกเปลี่ยนเหรียญ) โมเดล AMM จะใช้ Smart Contract สร้าง Liquidity Pools (Pools) จากนั้นก็จะให้คนที่เข้ามาทำ Yield Farming ซึ่งเราจะเรียกคนเหล่านี้ว่า Liquidity Providers (LP) นำทรัพย์สินดิจิทัลเข้าไปฝากไว้ใน Pools เหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น Compound Finance แพลตฟอร์ม DeFi ที่เป็น Potocol ปล่อยกู้สินทรัพย์ดิจิทัล จะใช้ระบบ Currency Pool เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ ซึ่งผู้ที่ให้กู้ (คนที่นำเหรียญคริปโตเคอเรนซี มาฝากไว้กับ Compound Finance) จะนำเหรียญคริปโตเข้ามาฝากไว้ที่ Currency Pool และจะได้รับผลตอบแทนเป็น อัตราดอกเบี้ยต่อปี (Supply APR) ส่วนของผู้กู้ก็ต้องมาขอกู้บน Currency Pool เช่นกัน และต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ Currency Pool (Borrow APR) โดย Compound Finance จะเป็นคนที่บริหารจัดการ Currency Pool ให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่นด้วยระบบ Smart Contract ซึ่งคนที่นำเหรียญมาฝากก็เท่ากับว่าได้เข้ามาทำ Yield Farming นั่นเอง
Yield Farming สร้างผลตอบแทนจริงไหม และ เอาเงินจากไหนมาจ่ายให้นักลงทุน ?
Yield Farming ให้ผลตอบแทนจริงไหม คำตอบของคำถามก็คือ มีทั้งจริง และไม่จริง โดยปัจจัยที่เราจะสร้างผลตอบแทนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวแพลตฟอร์ม โปรเจคของแพลตฟอร์ม และตัว Farmer เองด้วย เนื่องจากแพลตฟอร์ม DeFi ในปัจจุบันเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็จะเป็นแพลตฟอร์มแบบ Copy And Past
อย่าลืมว่า Blockchain อย่าง Ethereum ที่เราสามารถเข้าไปสร้าง Decentralized Application (DApp) ใช้ระบบ Open Source Code ดังนั้นหมายความว่าการสร้าง DApp ขึ้นมาใหม่ นักพัฒนาสามารถคัดลอก Code มาได้เลย โดยปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทำให้โปรเจคต่าง ๆ ก็จะไม่แตกต่างกันมาก และดูจะเป็นการลงทุนที่ไม่ยั่งยืน ยกเว้นว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้เยอะจริง ๆ อย่าง Compound Finance , PancakeSwap และ Uniswap เป็นต้น
ซึ่งถ้าหากว่าเราเลือกแพลตฟอร์มที่มีโปรเจคที่น่าสนใจ มีความน่าเชื่อถือทั้งด้าน Audit และ Smart Contract โอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนก็จะมีมาก และลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นไปได้ระดับหนึ่งเลย ส่วนจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับ Traffic การใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi นั้นด้วย ซึ่งยิ่งคนใช้งานมากผลตอบแทนที่จ่ายให้กับผู้ที่ทำ Yield Farming ก็มาก แต่ในกรณีที่เราเข้าไป Farming ใน Pool ที่มีคนเข้ามา LP เยอะ ๆ ผลตอบแทนจากการ Farm ใน Pool นั้นก็จะลดลง อารมณ์ประมาณว่ามีตัวหารมากขึ้นนั่นแหละครับ…
ซึ่งเมื่อแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้น ก็ต้องใช้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยเมื่อมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มก็จะมีการเก็บค่า Fee ซึ่งค่า Fee เหล่านี้จะถูกนำมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้ามาเป็น LP หรือ ทำ Yield Farming ซึ่งจะถูกจ่ายมาในรูปของ Native Token เช่น Compound ก็จะจ่ายผลตอบแทนให้คนที่เข้ามา LP เป็นเหรียญ $COMP เป็นต้น
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง Yield Farming และ Staking
ที่จริงแล้วการทำ Yield Farming กับการ Staking นั้นค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน เพราะต้องนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากเหมือนกันแต่จะแตกต่างกันตรงที่ การทำ Yield Farming จะเป็นการนำเหรียญไปฝากไว้ในแพลตฟอร์ม DeFi เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่การ Staking เป็นการฝากไว้เพื่อเป็น Node ของเครือข่าย Blockchain ที่เป็น Proof Of Stake เพื่อทำหน้าที่เป็น Validator หรือผู้ยืนยันการทำธุรกรรม


การทำ Yield Farming มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน หรือเสียเงินต้นไหม
แน่นนอนว่าทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการลงทุนใน DeFi ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงจากตัวแพลตฟอร์ม ราคาเหรียญที่มีความผันผวน โดยสิ่งที่ต้องระวังมีดังนี้
1.Impermanent Loss
โดยปกติการทำ Yield Farming เรามักจะต้องฝากเหรียญเป็นคู่เหรียญ เนื่องจากเวลาที่คนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม และต้องการแลกเปลี่ยนเหรียญหนึ่งเป็นอีกเหรียญหนึ่ง เท่ากับว่าแพลตฟอร์มจะต้องการสภาพคล่องของเหรียญทั้งสองนั้น ดังนั้นคนที่เข้ามาเป็น LP ก็จะต้องนำเหรียญมาฝากเป็นคู่เหรียญในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อที่ให้เกิดธุรกรรมระหว่าง 2 เหรียญ
ซึ่ง Impermanent Loss จะเกิดขึ้นเมื่อราคาของเหรียญที่เรานำไปฝากมีความผันผวน เช่นสมมติว่า ฝากเหรียญ AZ ไว้ใน Pool 2 เหรียญ ราคาเหรียญละ 100 USD มูลค่ารวม 200 USD และฝากเหรียญ BY จำนวน 200 เหรียญ ราคาเหรียญละ 1 USD มูลค่ารวม 200 USD เท่ากับว่าเราได้ฝากเหรียญไว้ใน Pool ของ AZ-BY เป็นมูลค่าทั้งหมด 400 USD จากนั้นสมมติว่าราคาของเหรียญ AZ เพิ่มขึ้นจาก 100 USD กลายเป็น 150 USD ซึ่งจะส่งผลให้มีนักลงทุนเข้ามาทำการ Arbitrage โดยจะเอาเหรียญ BY มา Swap เป็น AZ ด้วยอัตราส่วน 1 AZ = 120 BY
เมื่อมีคนถอน AZ ออกไปหนึ่งเหรียญโดยแลกกับ BY แค่ 120 เหรียญที่กลับเข้ามาใน Pool จากเดิมที่เราฝาก AZ 2 เหรียญ และ BY 200 เหรียญ แต่หลังจากที่มีคนถอน AZ ออกไป 1 เหรียญ โดยแลกกับ BY 120 เหรียญ เท่ากับว่าใน Pool จะมีเหรียญ AZ เหลือแค่ 1 เหรียญ (150$) และ BY เพิ่มเป็น 320 เหรียญ (1$) เมื่อรวมมูลค่าแล้วจะเท่ากับ 470 USD ซึ่งดูเผิน ๆ อาจจะเหมือนกับว่าได้กำไร 70 USD แต่ถ้าเราเลือกที่จะถือเหรียญแทนการฝากเหรียญไว้ใน Pool ล่ะจะเกิดอะไรขึ้น
สมมติว่าเราถือเหรียญ AZ ราคาเหรียญละ 100 USD จำนวน 2 เหรียญ มูลค่ารวม 200 USD และ เหรียญ BY มูลค่าเหรียญละ 1 USD จำนวน 200 เหรียญ มูลค่ารวม 200 USD จากนั้นราคาของเหรียญ AZ ขยับขึ้นเป็นเหรียญละ 150 USD ทำให้มูลค่าของเหรียญ AZ ที่เราถือเท่ากับ 300 USD รวมกับมูลค่าของ BY ก็จะเท่ากับ 500 USD ซึ่งมากกว่าการที่เราไป Farming อยู่ 30 USD และสิ่งนี้แหละคือความเสี่ยงที่เรียกว่า Impermanent Loss
ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการถอนเงินที่เอาไปฝากไว้ใน Pool ออกเท่านั้น ตราบใดที่ยังฝากเหรียญไว้ใน Pool ก็จะไม่โดน Impermanent Loss นั่นเอง
2.Smart Contract
ตัว Coding ที่ใช้ในการออกแบบแพลตฟอร์มเองก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากเป็นระบบการเงิน Centralized อย่างธนาคาร เราจะใช้ระบบความเชื่อใจในตัวกลาง แต่การลงทุนใน DeFi สิ่งที่เราต้องดู และใช้เป็นเสาหลักคือ Coding ที่ออกแบบ Smart Contract เพราะเมื่อเราฝากเงินเข้าไป ถ้าหากว่ามีการออกแบบให้เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถถอนเงินออกไปได้ หากเป็นแบบนั้นก็ไม่ต่างกับการที่เราเอาเงินถวายใส่พานให้โจรเลยน่ะสิ แต่แพลตฟอร์มที่ดีก็ใช่ว่าจะไม่มี ซึ่งคีย์หลักก็คือนักลงทุนควรจะมีความรู้ในการอ่าน Code เพื่อที่จะสามารถจับความผิดปกติของแพลตฟอร์ม และทำให้สามารถไหวตัวทัน หรือ หลีกเลี่ยงการลงทุนในแพลตฟอร์มนั้น ๆ
แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนทีจะอ่าน Code ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ สังเกตุ และศึกษาให้ดีก่อน แหล่งความรู้ที่ดีก็คือ Community ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ เพราะใน Community ส่วนใหญ่จะมีคนที่เข้าใจในเรื่องของ Coding กันอยู่แล้ว และหากว่าเกิดความผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลง คนใน Community ก็จะคอยเตือนกันตลอด
4.ระวัง Scam และ Rug Pull !!!
Scam คือ การปลอมแปลงแพลตฟอร์ม Official เพื่อให้คนเอาเงินเข้ามาฝาก จากนั้นก็ขโมยเงินหนีไป ส่วนการ Rug Pull ที่เจ้าของแพลตฟอร์มเปิดแพลตฟอร์ม และทำการขายเหรียญ รวมถึงให้คนเอาเหรียญมาฝากจากนั้นก็ปิดเว็บหนี
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นการเลือกแพลตฟอร์ม DeFi จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ ซึ่งเราได้ลิสต์สิ่งที่ควรดูเพื่อประกอบการตัดสินใจ และลดความเสี่ยงในการลงทุนแบบ Yield Farming ไว้ในหัวข้อถัดไปแล้ว
ใช้ปัจจัยอะไร ในการเลือกแพลตฟอร์ม DeFi
1.Total Value Lock (TVL) หรือยอดเงินที่ฝากไว้ในแพลตฟอร์ม เนื่องจากมันจะสะท้อนว่ามีคนกล้าลงทุนเยอะแค่ไหน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจที่เราจะเข้าไปร่วมวงมากขึ้น
2.Audit แพลตฟอร์มที่น่าเข้าไปลงทุนต้องมี Audit ตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ
3.ระยะเวลาที่เปิดให้บริการ เปิดให้บริการมานาน และไม่เคยมีประวัติเสียหายมาก่อน
4.แพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือควรจะมีพาร์ทเนอร์ใหญ่ ๆ ที่คนทั่วไปรู้จัก เช่น Binance , Coinbase เป็นต้น
5.Governance Token ทุกแพลตฟอร์มจะมี Governance Token เป็นของตัวเอง ถ้าเหรียญของแพลตฟอร์มไหนได้ลิสต์เข้าไปใน Exchange ที่มีชื่อเสียง ก็จะช่วยให้เราพอมั่นใจ และคาดหวังกับผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนได้มากขึ้น
6.แพลตฟอร์มที่เลือกควรมี Time Lock เพื่อที่นักลงทุนจะได้สามารถไหวตัวทันในเรื่องของการแก้ไขเปลี่ยนแปลง Coding
ซึ่งแน่นอนว่าเกณฑ์การสังเกตุแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ทั้งหมด 100 % ดังนั้นนักลงทุนควรใช้วิจารณญานในการเลือกลงทุน และใช้เงินเย็นเท่านั้น
เราจะเริ่มทำ Yield Farming ได้อย่างไร ?
ภายในบทความนี้เราจะขอแนะนำวิธีการฟาร์มในแพลตฟอร์มทั้งหมด 2 เคสตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นแพลตฟอร์ม DeFi บน Ethereum และ Binance Smart Chain (BSC) ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้


ขั้นตอนที่ 1 เตรียมบัญชี Exchange โดยในบทความนี้จะขอแนะนำเป็น Binance Exchange
เริ่มแรกให้ไปที่ หน้าสมัครของเว็บไซต์ Binance Exchange ทำการกรอก E-mail และ Password จากนั้นคลิก “สร้างบัญชี” ให้เรียบร้อย แล้วให้ไปเช็คกล่องจดหมายใน E-mail และทำการคัดลอกโค้ดที่ทาง Binance ส่งให้ และนำมาวางในช่อง Verification กด Submit
ขั้นถัดไป Binance จะให้เราทำการยืนยันตัวตน โดยกดที่รูปคนบริเวณมุมบนด้านขวา แต่ถ้าทำผ่านแอปในโทรศัพท์จะอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายมือ คลิกที่ “Verify” แถบสีเหลืองด้านขวามือ ทำการกรอกข้อมูลส่วนตัวจากนั้นคลิก “Continue”
จากนั้นลากหน้าจอไปทางด้านขวาเพื่อยืนยันตัวตนอีกขั้นคลิก “Verifly Now” ถ่ายหลักฐานทางราชการของคุณทั้งด้านหน้าและหลัง ทำการอัปโหลดเข้าไปจากนั้นคลิก “Continu”e และรอการยืนยันไม่เกิน 1 ชั่วโมง เท่านี้เป็นอันเสร็จสิ้นการเปิดบัญชี Binance Exchange
ขั้นตอนที่ 2 สร้างกระเป๋า Metamask
เข้าไปดาวน์โหลดส่วนขยาย Metamask ใน Google Store CLICK เมื่อติดตั้งเรียบร้อย กด Get Started
จากนั้นเลือก Create A Wallet และ ทำการตั้ง Password คลิก “Create”
Metamask จะให้ Secret Backup Phase มา ส่วนนี้เป็นรหัสที่สำคัญมาก ๆ ควรเก็บไว้เป็นความลับ ไม่แนะนำให้เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ แนะนำให้จดไว้ในกระดาษ แต่ก็ห้ามทำหาย ห้ามประมาทเด็ดขาด !!!
จากนั้นคลิก Next และใส่ Secret Backup Phase โดยต้องเรียงลำดับให้ถูกต้อง เป็นอันเสร็จสิ้นการเปิดบัญชี Metamask
ขั้นตอนที่ 3 ซื้อเหรียญบน Binance Exchange และถอนมาเก็บไว้กระเป๋า Metamask
เริ่มแรกไปที่ Binance เข้าสู่ระบบด้วยบัญชีของคุณให้เรียบร้อยหาฟังก์ชัน “ORDER” ด้านบน และเลือก “P2P Order”
ในขั้นตอนนี้เราจะทำการซื้อเหรียญ USDT ซึ่งเป็น Stable Coin เพื่อลดความเสี่ยงในการผันผวนของราคาเหรียญอื่น ๆ คลิก “BUY USDT/ซื้อUSDT”
จากนั้นใส่จำนวนเงินเป็น ไทยบาท ที่ต้องการจ่ายเพื่อซื้อลงไปในช่อง I want to pay ระบบจะคำนวณจำนวนเหรียญ USDT มาให้ในช่อง I will receive จากนั้นก็ทำการโอนเงินไปตามบัญชีที่ผู้ขายระบุ โอนเรียบร้อยแล้วอย่าลืมส่งสลิปให้ผู้ขายเหรียญทางช่องแชทด้วย รอสักพักผู้ขายจะส่งเหรียญ USDT มาให้
จากนั้นย้ายเหรียญจาก P2P เข้าไปที่ Fiat and Spot โดยกดที่ ฟังก์ชัน “Wallet” ด้านบน และเลือก P2P ซึ่งจะปรากฏตารางสกุลเงินดิจิทัล ให้เราโฟกัสสกุลเงินที่เราพึ่งซื้อมานั่นก็คือ USDT และ ให้คลิกที่ “Transfer” ด้านขวาของตาราง ใส่จำนวนเงินที่ต้องการโอนไป แล้วคลิก “Confirm”
จากนั้นให้นำเหรียญ USDT ไปซื้อเหรียญ ETH โดยเลือก ฟังก์ชัน “TRADE” ด้านบนเลือกเป็น Classic หรือ Advance ก็ได้
พิมพ์ในช่อง Symbol ว่า “ETH/USDT” และทำการซื้อมา เมื่อได้เหรียญ ETH แล้ว ให้ไปที่ Fiat and Spot ก่อนหน้านี้จะสังเกตุว่าเรามีเหรียญ ETH เพิ่มมา โดยเหรียญ USDT ก็จะลดลงไป
ขั้นตอนถัดไปเราจะถอนเหรียญ ETH จาก Binance ไปไว้ที่ Metamask ของเรา โดยเลือก ฟังก์ชัน “Withdraw/ถอน” ด้านขวาของตาราง
โดยในช่อง Address ให้ใส่ Address Metamask ของเรา ในส่วนช่อง Network ให้เลือก ERC-20 ห้ามเลือกผิดนะครับ เพราะเราจะโอนเข้าไปในบล็อกเชนของ Ethereum อย่าลืมตรวจสอบ เครือข่าย Metamask ของคุณว่าเป็น Main Net อยู่ เมื่อทำธุรกรรมแล้วรอสักครู่เหรียญจะถูกโอนไปที่ Metamask Wallet ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที
ขั้นตอนที่ 4 เริ่มทำ Yield Farming
ฟาร์มบน UniSwap v.3
- TVL ประมาณ $6 Billion
- Audit : ConsenSys Diligence
- เปิดในปี 2018
- เหรียญ Governance Token (UNI Token) ลิสต์บน Binance Exchange
- มี Time Lock ขั้นต่ำ 2 วัน มากสุด 1 เดือน
- APY : ค่าธรรมเนียม (Fee)
เริ่มแรกไปที่ เว็บไซต์ UniSwap v.3 จากนั้นทำการเชื่อมกระเป๋า Crypto Wallet ของคุณโดยคลิกปุ่ม “Connect Wallet” ที่มุมบนซ้ายมือ ซึ่งในบทความนี้เราจะใช้ Metamask Wallet ทำการเชื่อมต่อให้เรียบร้อย
จากนั้นไปที่หน้า UniSwap Pool และเลือกคู่เหรียญที่ต้องการ LP โดยการเลือกคู่เหรียญก็จะพิจารณาจาก TVL , Volume การซื้อขาย และความเสี่ยงที่อาจจะเกิด Impermanent Loss เมื่อเลือกได้แล้ว คลิก “Add Liquidity”
กำหนดค่า Fee แต่ถ้าหากว่าคุณเป็นมือใหม่สามารถใช้ค่า Fee ที่แพลตฟอร์มกำหนดมาให้แบบอัตโนมัติเลยก็ได้
กำหนดช่วงราคายิ่งช่วงราคาแคบ ผลตอบแทนยิ่งมาก แต่ก็มีโอกาสที่ราคาหลุดออกจากช่วงราคาที่คุณกำหนด เมื่อราคาตลาดอยู่นอกช่วงราคาที่คุณกำหนด คุณจะไม่ได้รับผลตอบแทน จนกว่าราคาตลาดจะกลับมาอยู่ในช่วงราคานั้น ซึ่งคุณสามารถเลือกแบบเต็มช่วงได้โดยคลิกปุ่ม “Full Range”
ถัดไปเลือกจำนวนเหรียญที่ต้องการฝาก เรียบร้อยแล้วคลิก “Preview” ทำการตรวจสอบความถูกต้องเมื่อแน่ใจแล้วให้คลิก “Add” และยืนยันการทำธุรกรรมของคุณบน Metamask เพียงเท่านี้เป็นอันเสร็จสิ้น และคุณสามารถตรวจสอบสถานะธุรกรรมได้ที่นี่ >>CLICK<<
ฟาร์มบน PancakeSwap
- TVL ประมาณ $11 Billion
- Audit : Certik
- เปิดในปี 2020
- เหรียญ Governance Token (CAKE Token) ลิสต์บน Binance Exchange
- มี Time Lock ขั้นต่ำ 6 ชั่วโมง สูงสุด 1 เดือน
- APY : $CAKE Token
เริ่มแรกถ้าพึ่งเปิด Metamask เครือข่ายของเราจะยังเป็น Main Net หรือก็คือยังทำงานได้แค่บน บล็อกเชนของ Ethereum เท่านั้น แต่การที่เราจะไปฟาร์มใน PancakeSwap ซึ่งอยู่บน Binance Smart Chain (BSC) เราจะต้องทำการเปลี่ยนเครือข่าย Metamask ของเราให้สามารถทำงานบน BSC ให้ได้เสียก่อน โดยให้คลิกที่ Drop Down ์Network และเลือก “Custom RPC”
โดยให้กรอกข้อมูลดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
Network Name : Binance Smart Chain
New RPC URL : https://bsc-dataseed.binance.org/
Chain ID : 56
Currency Symbol : BNB
Block Explorer URL : https://www.bscscan.com
เรียบร้อยแล้วกด SAVE คราวนี้ Metamask ของคุณก็จะสามารถใช้งานบน Binance Smart Chain ได้แล้ว
เริ่มแรกไปที่ Binance เข้าสู่ระบบด้วยบัญชีของคุณที่สมัครไว้ก่อนหน้านี้ให้เรียบร้อย และทำการซื้อเหรียญ BNB โดยขั้นตอนจะคล้ายกับการซื้อเหรียญ ETH ที่เราได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้
ทำการซื้อเหรียญ Binance (BNB) โดยเลือก ฟังก์ชัน “TRADE” ด้านบนเลือกเป็น Classic หรือ Advance ก็ได้ จากนั้นให้พิมพ์ในช่อง Symbol ว่า “BNB/USDT” เท่านี้ก็สามารถซื้อเหรียญ Binance ได้แล้ว
เมื่อได้เหรียญ Binance (BNB) แล้ว ให้ไปที่ Fiat and Spot ก่อนหน้านี้จะสังเกตุว่าเรามีเหรียญ BNB เพิ่มมา โดยเหรียญ USDT ก็จะลดลงไป
ขั้นตอนถัดไปเราจะถอนเหรียญ BNB จาก Binance ไปไว้ที่ Metamask ของเรา โดยเลือก ฟังก์ชัน “Withdraw/ถอน” ด้านขวาของตาราง
เลือกเหรียญที่ต้องการถอนหรือ BNB และในช่อง Address ให้ใส่ Address Metamask ของเรา ในส่วนช่อง Network ให้เลือก BEP20 (BSC) ห้ามเลือกผิดนะครับ เพราะเราจะโอนเข้าไปในบล็อกเชนของ Binance Smart Chain อย่าลืมตรวจสอบ เครือข่าย Metamask ของคุณว่าเป็น Binance Smart Chain อยู่
ไปที่ เว็บไซต์ PancakeSwap เมื่อเข้ามาแล้ว ให้สังเกตบริเวณมุมบนขวามือ จะมีปุ่ม Connect ให้เรากดที่ปุ่มนั้น เมื่อกดแล้วเขาจะมีให้เราเลือกว่าเราจะเชื่อมกระเป๋าของเราด้วยแพลตฟอร์มไหน ซึ่งสำหรับบทความนี้ ให้เราเลือกใช้กระเป๋า Metamask
ง่าย ๆ เพียงเท่านี้ Metamask ของเราก็เชื่อมกับ Pancakeswap แล้ว
จากนั้นไปที่หน้าเว็บไซต์ PancakeSwap เลือกฟังก์ชัน Farm ที่แถบฟังก์ชันด้านซ้ายมือ ซึ่งจะแสดงคู่เหรียญต่าง ๆ ที่สามารถเลือกฟาร์มได้ขึ้นมา โดยการเลือกคู่เหรียญก็ให้พิจารณาจาก ค่าข้อมูลต่าง ๆ ของคู่เหรียญ ซึ่งอยู่ถัดไปจากคู่เหรียญ
APR – ดอกเบี้ยต่อปี ไม่ใช่ค่าคงที่ แต่จะเปลี่ยนแปลงผกผันกับค่า Liquidity
Liquidity – จำนวณเงินที่คนเอามาฟาร์มในคู่เหรียญนั้น ซึ่งถ้ายิ่งมีมาก APR ก็จะลดลงได้
Multiplier – คือตัวคูณเป็นการบอกเฉย ๆ ว่าคู่เหรียญนี้มีตัวคูณผลตอบแทนเท่าไร แต่การคูณจะถูกรวมไว้ในค่า APR อยู่แล้ว
นอกจากนั้น ให้เราเข้าไปดูผลตอบแทนแยกย่อยเพิ่มได้ โดยการคลิกที่เครื่องหมาย สี่เหลี่ยม ท้ายค่า APR จะขึ้นหน้าต่าง ROI ซึ่งจะบอกว่าการฟาร์มตั้งแต่วันแรกจนครบปีนั้นจะได้ผลตอบแทนเท่าไร และได้รับผลตอบแทนทบต้นเท่าไร
หลังจากที่เราดูข้อมูลคู่เหรียญ และสมมติว่าเราเลือกคู่เหรียญที่ต้องการฟาร์มได้แล้วเราต้องทำการรวม LP ก่อน โดยให้ไปที่ฟังก์ชัน Trade และเลือก Liquidity จากแถบฟังก์ชัน ด้านซ้ายมือ
จากนั้นคลิกปุ่ม Add Liquidity และทำการกำหนดคู่เหรียญที่ต้องการฟาร์ม ในช่อง Input โดยต้องแบ่งปริมาณเหรียญแบบครึ่ง ๆ ตรวจสอบความถูกต้องให้เรียบร้อยคลิก Approve
จากนั้น Metamask ของเราจะเด้งขึ้นมาเพื่อให้เรากดยืนยันจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งการฟาร์มใน PancakeSwap จะต้องมี BNB เหลือติดกระเป๋าไว้สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมด้วย จ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว จากนั้นคลิก Supply คลิก Confirm Supply อีกรอบเขาจะทำการสร้างคู่เหรียญให้คุณเรียบร้อย
กลับไปที่ฟังก์ชัน Farm และ ไป Search คู่เหรียญที่ได้ไปรวม LP มา
คลิก “Enable Farm” จากนั้นคลิก “Stake LP” จะขึ้นหน้า Balance มาให้กด Max และคลิก “Confirm”
เพียงเท่านี้เราก็ทำการฟาร์มเหรียญได้แล้ว โดยต่อจากนี้เราก็ไม่ต้องทำอะไร โดยสามารถดูผลตอบแทนต่อวันที่ช่อง Cake Earned
สมติว่าต้องการเลิกฟาร์ม ให้กดลบ (-) และกด Pending Confirmation ซึ่งตอนถอนก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยดังนั้นอย่าลืมมี BNB ติด Metamask ไว้ตลอด
จากนั้นไปที่ฟังก์ชัน Trade และเลือก Liquidity เลือกคู่เหรียญที่ต้องการถอน กด Remove เลือกจำนวน กด Approve และกด Remove อีกครั้ง ซึ่งสามารถเช็คเหรียญ และผลตอบแทนของคุณในกระเป๋า Metamask ได้เลย
บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด เพียงแแค่ต้องการส่งต่อข้อมูลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนเท่านั้น ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการเทรดคริปโต และการลงทุนใน DeFi นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง
สามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับ Blockchain , DeFi , Crypto , NFT และ GameFi ได้ที่ Page Sputnikth