ทุกคนเคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า…การจะนำข้อมูลจากโลกภายนอกเข้าไปยังบล็อกเชนนั้นมีกระบวนการอย่างไร แค่อัพโหลดขึ้นไปเหมือนกับอินเทอร์เนตในปัจจุบันหรือไม่ หรือมีอะไรมากกว่านั้นและการมีระบบกระจายอำนาจ (Decentralized) จะช่วยให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมีความแม่นยำไหม ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ Chainlink (Link Coin) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยกรองข้อมูลจากโลกภายนอกก่อนจะนำเข้ามาอยู่ในระบบบล็อกเชน…
Chainlink คืออะไร ?
Chainlink เป็นแพลตฟอร์ม Decentralized Oracle Network ซึ่งจะเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลระหว่าง ข้อมูลภายนอกบล็อกเชน (Off-Chain) กับ ข้อมูลที่อยู่บนระบบบล็อกเชน (On-Chain) ซึ่ง Chainlink จะทำให้แน่ใจว่าข้อมูลที่จะรับเข้ามาในบล็อกเชนมีความถูกต้อง และเชื่อถือได้
สมมติว่า มีการเขียน Smart Contract ขึ้นมาสำหรับทำนายสภาพอากาศบนบล็อกเชน (On-Chain) สมมติว่ามี User Node 3 คน ที่มาร่วมทำนายสภาพอากาศโดยต้องทำการวางเงินเดิมพันไว้เท่า ๆ กัน และถ้าใครทายถูกก็จะได้รับรางวัล แต่ถ้าไม่มีใครทายถูกเลย เงินที่วางไว้ก็จะถูกคืนให้กับทุกคนเท่า ๆ กัน


จากตัวอย่างในภาพ นาย ก ทายว่าอากาศจะแจ่มใส และ นาย ข ทายว่าฝนจะตก ส่วน นาย ค ทายว่าวันนี้จะมีหิมะตกลงมา โดย Smart Contract จะทิกเกอร์ก็ต่อเมื่อได้รับข้อมูลมาว่า วันนี้มีสภาพอากาศเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่จะบอกว่าวันนี้อากาศเป็นอย่างไร จะไม่ได้เกิดขึ้นบนบล็อกเชน แต่จะเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นบนโลกความเป็นจริง หรือโลก Offline นั่นเอง
โดยจากตัวอย่างสมมติว่า วันนี้ฝนตก นาย ข จึงเป็นผู้ที่ทายถูก แต่ว่า Smart Contract จะยังไม่สามารถจ่ายรางวัลให้กับนาย ข ได้ทันที จะต้องมีการส่งข้อมูลจาก Off-Chain เข้าสู่ On-Chain ก่อน
ซึ่งปัญหาสำคัญก็คือ Smart Contract จะไปเอาข้อมูลจากไหน ถึงจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องล่ะ โดยถ้า Smart Contract ได้รับข้อมูลมาผิด ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะผิดไปจากที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นข้อมูลที่ผิดอาจมาจาก Node คนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น นาย ก หรือ นาย ค มาป้อนข้อมูลผิด ๆ ลงใน Smart Contract เพื่อให้ตนเองได้รับรางวัล แทนที่ นาย ข จะได้รางวัล
ซึ่งตรงนี้เองที่ทาง Chainlink จะมาเป็นตัว Oracle เพื่อกรองข้อมูลที่ถูกต้องให้กับระบบ Smart Contract ได้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามจุดประสงค์
ระบบขั้นตอนการทำงานของ Chainlink
ตอนนี้เราก็รู้กันแล้วว่า Chainlink คืออะไร และการใช้งานหลัก ๆ ของแพลตฟอร์มนี้คืออะไร ต่อไปเราไปดูระบบขั้นตอนการทำงานของ Chainlink กัน โดยให้ดูภาพประกอบตามไปด้วยเพื่อที่จะเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
เริ่มต้นให้ดูที่ฝั่ง On-Chain ซึ่งมี Smart Contract อยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ
1. User Contract คือ Smart Contract ที่ต้องการใช้ข้อมูลจาก Data หรือ ข้อมูลภายนอกจาก Off-Chain มาใช้งาน
2.Oracle Contract คือ Smart Contract ที่ทาง Chainlink พัฒนาขึ้นมาเพื่อที่จะให้บริการ User Contract ในการที่จะเรียกข้อมูลจาก Off-Chain มาใช้งานกับ User Contract
3.Link Contract คือ Smart Contract ของทาง Chainlink ซึ่งเป็น Smart Contract ที่จะคอยควบคุมการทำงาน Oracle Contract และ User Contract ให้สามารถทำงานกับ Link Coin ได้
ส่วนทางฝั่ง Off-Chain ก็จะมี Node X หรือคนที่ดึงข้อมูล (Data) ส่งให้กับ Oracle Contract
โดยเริ่มแรก User Contract จะส่งคำสั่งขอข้อมูล (Send Request) ไปที่ Oracle Contract เมื่อ Oracle Contract ได้รับคำสั่งขอข้อมูลแล้ว ก็จะทำการส่งงาน (Send Jobs) ไปยัง Node X จากนั้น Node X ก็จะทำการดึงข้อมูล (Pull Data) มาจาก Off-Chain และ Node X ก็จะทำการส่งข้อมูลกลับไปที่ Oracle Contract (Fullfill Request) ทีนี้ Oracle Contract ก็จะส่งต่อข้อมูลให้กับ User Contract ไปใช้งาน (Deliver Result)
ซึ่งแน่นอนว่า Chainlink มีคุณสมบัติความเป็น Decentralized ดั้งนั้น User Contract จึงสามารถส่งคำขอข้อมูลไปยัง หลาย ๆ Oracle Contract และ Oracle Contract ก็สามารถส่งงานไปให้โหนดหลาย ๆ โหนดได้ เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง และนำมาคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องจาก Off-Chain มายัง บล็อกเชนได้
เว็บไซต์ Chainlink : CLICK
Link Coin ใช้ทำอะไร น่าลงทุนไหม
Link Coin เป็น Token ในกลุ่ม ERC-20 หรือก็คือเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum โดยการใช้งานหลัก ๆ ของ Link Coin ก็คือการใช้สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียม (ค่า Gas) ในการใช้งาน Chainlink โดยเริ่มตั้งแต่การที่ User Contract ส่งคำขอข้อมูลไปที่ Oracle Contract ตรงนี้ก็จะต้องทำการจ่ายค่า Gas เป็น Link Coin ส่วนใครที่ต้องการเป็น Node X หรือ ผู้ที่ทำหน้าที่ดึงข้อมูลจาก Off-Chain เข้ามาที่ Oracle Contract ก็ต้องทำการนำ Link Coin มาวางเป็นหลักประกันเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ Node X ส่งข้อมูลผิด ๆ จาก Off-Chain เข้ามา นอกจากนั้น ความพิเศษของคริปโตเคอเรนซีเหรียญนี้ยังสามารถใช้งานฟังก์ชั่น Transfer and Call จาก ERC223 สำหรับการโอน (address, uint256, bytes) ทำให้การรับโทเค็นและการประมวลผลสัญญา จบลงได้ภายในการทำธุรกรรมครั้งเดียว
ปัจจุบัน (15/07/2564) ตัวเหรียญ LINK มี Supply ในตลาดอยู่ประมาณ 438 ล้านเหรียญ จาก Max Supply ทีมีอยู่ 1,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 43 % จากเหรียญทั้งหมด และยังเหลืออีก 57 % ที่เก็บไว้สำหรับเป็นรางวัลให้กับ Node และทีมผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Chainlink
Link Coin จะมีมูลค่าขนาดไหนขึ้นอยู่กับการใช้งานจริง และประเภทของการใช้งานจริงนั้นมีการเดิมพันเรื่องความถูกต้องของข้อมูลมากขนาดไหน อย่างเช่น การพนัน หรือการประกันภัย ซึ่งมีการเดิมพันของข้อมูลที่สูงมาก ถ้ามีการใช้งานในด้านนี้มาก ๆ ก็จะทำให้เกิดความต้องการเหรียญมากขึ้น ราคาเหรียญก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย
ดูราคาเหรียญ Link : CLICK
Chainlink ใช้ทำอะไรได้บ้าง ตัวอย่าง 5 Use Cases
1.การประกัน
ผู้ที่ทำธุรกิจประกันภัยมักจะต้องประสบกับปัญหาที่ลูกค้า หรือผู้ที่ถือกรมธรรม์ให้ข้อมูลด้านสุขภาพ และประวัติการเป็นโรคที่ไม่ถูกต้อง เพื่อหวังที่จะลดค่าเบี้ย อีกด้านในส่วนของบริษัทประกันนั้นมีอำนาจมากกว่าผู้ถือกรมธรรม์ ทำให้ในบางครั้งเกิดช่องโหว่ที่สามารถเอาเปรียบผู้ถือกรมธรรม์ได้ ซึ่ง Smart Contract ของ Chainlink จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสัญญาประกันภัย ให้มีความโปร่งใส และเป็นกลางได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการใช้ Chainlink กับอุตสาหกรรมประกันในรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย
การประกันพืชผล – Arbol ซึ่งใช้ Smart Contract Chainlink Oracal เพื่อดึงข้อมูลปริมาณน้ำฝนจาก National Oceanic And Atmospheric Administration (NOAA) โดยข้อมูลนี้ Arbol เอาไปใช้เพื่อชำระค่าประกันพืชผลตามปริมาณน้ำฝน ในแต่ละภูมิภาค
การประกันการบิน – Etherisc โปรโตคอลที่ให้บริการประกันการบินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) โดยใช้ Chainlink Oracal สำหรับดึงข้อมูลเที่ยวบินเพื่อดูว่าเกิดความล่าช้าหรือไม่ ซึ่งการดึงข้อมูลนั้นสามารถทำได้รวดเร็วกว่าระบบแบบรวมศูนย์ และมีความโปร่งใสมาก ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับการยืนยันว่าพวกเขาจะได้รับเงินประกันทันทีเมื่อเที่ยวบินมาช้ากว่ากำหนด โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเดินเรื่องไปร้องเรียนด้วยตัวเองเลย
2.ระบบสาธารณูปโภค
พลังงาน – Dipole ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายพลังงานแบบกระจายศูนย์ วางแผนที่จะใช้ Chain Link Price Feeds (โปรเจคที่ทำให้แสดงราคาแบบ Real-Time) เพื่อเปิดให้บริการการซื้อขายพลังงานแบบออนไลน์ด้วยสกุลเงินดิจิทัล
การปล่อยมลภาวะ และการจัดการของเสีย เราสามารถจัดการปัญหาระดับโลกนี้ได้ด้วย Smart Contract ที่เปิดใช้งาน IoT ซึ่งจะสามารถวัดประสิทธิภาพ และ ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ ผ่าน Chainlink Oracal โดยข้อมูลที่ดึงมานี้สามารถทริกเกอร์แบบอัตโนมัติ และส่งไปยังหน่วยงานที่ควบคุมเกี่ยวกับการปล่อยมลภาวะที่เกินขนาดได้อย่างรวดเร็ว
3.การเลือกตั้ง
บ่อยครั้งที่การเลือกตั้งมีความไม่โปร่งใส มีการนับคะแนนเกินบ้าง ขาดบ้าง หรือบางครั้งมีการมาแอบเพิ่มคะแนนเสียงนอกรอบก็มี ดังนั้นเราจึงต้องการโซลูชั่นที่จะช่วยป้องกันการทุจริตในเรื่องนี้ ซึ่ง Chainlink สามารถเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ ซึ่งการลงคะแนนเสียงคุณสามารถทำได้บนเครือข่ายบล็อกเชน โดยใช้คีย์ส่วนตัว ซึ่ง Chainlink Oracle สามารถตรวจสอบ ไอดี ของบุคคลที่เข้าถึงได้หลายแหล่งผ่าน Deco และเมื่อได้รับการยืนยัน ข้อมูลการลงคะแนนเสียงจะถูกเผยแพร่บนบล็อกเชน และจะไม่สามารถแก้ไขหรือทำซ้ำได้ ซึ่งจะทำให้มีความถูกต้องและโปร่งใสอย่างมาก
4.เกมส์
Axie Infinity – เกม NFT ยอดนิยมอย่าง Axie Infinity พึ่งประกาศว่าจะใช้ Chainlink VRF ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจคของ Vechain เพื่อสร้างระบบสุ่มที่สามารถพิสูจน์ได้ และทาง Axie Infinity มีความต้องการนำโปรเจคนี้ไปใช้ในการทำระบบสุ่มไอเทม สำหรับโปรเจคใหม่ของ Axie Infinity ที่ชื่อว่า Origin Axie
5.การพนันออนไลน์
การพนันออนไลน์หลาย ๆ เว็บไซต์ในตอนนี้เป็นการออกแบบโค้ดเพื่อให้เจ้าของบ่อนเป็นผู้ชนะ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกอาจจะมีการหลอกล่อเพื่อให้ผู้เล่นลงเงินหนักมากขึ้นแต่สุดท้าย ผู้เล่นก็จะเป็นฝ่ายแพ้อยู่ดี ดังนั้น Chainlink VRF ซึ่งเป็นระบบสุ่มที่มีความยุติธรรมจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะทำให้ การพนันออนไลน์นั้นมีความยุติธรรม ปราศจากอคติมากยิ่งขึ้น
ที่จริงแล้วการใช้งานของ Chainlink นั้นยังมีอีกมากมาย ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ โดยสรุป Chainlink นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในด้านของการเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยกรองข้อมูลจาก Off-Chain ให้มีความถูกต้องและโปร่งใส นั้นทำให้ Chainlink สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับอะไรก็ตามที่มีการเดิมพันของข้อมูลที่ค่อนข้างสูง