บิทคอยน์ อาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในระบบการเงินโลก แต่ บิทคอยน์ ก็อยู่แค่ในวงการทางการเงินเท่านั้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในหลาย ๆ วงการอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ เพลง วงการเกมส์ เป็นต้น ซึ่งนั่นเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สินทรัพย์ชนิดนี้สามารถทำได้ ในบทความนี้เราไปทำความรู้จักกันว่า NFT หรือ Non-Fungible Token คืออะไร ทำไมศิลปินหลายคนเลือกขายงานในรูปแบบ NFT
NFT หรือ Non-Fungible Token คืออะไร ?
NFT หรือ Non-Fungible Token คือ เหรียญคริปโตเคอเรนซีอีกหนึ่งประเภทที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์นั้น ๆ มูลค่าของเหรียญ NFT จะไม่เท่ากัน รวมถึงไม่สามารถใช้งานทดแทนค่ากันได้อีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน เช่น เปรียบเหรียญประเภทนี้เป็นมือถือ 1 เครื่อง แล้วมีเพื่อนมาขอนำไปใช้ทำธุระ เวลานำมือถือเครื่องดังกล่าวมาคืนก็ต้องเป็นเครื่องเดิม จะไปนำเครื่องใหม่มาให้ไม่ได้แม้เป็นรุ่นเดียวกันก็ตาม เนื่องจากมือถือของเราก็มีบางสิ่งที่เป็นความเฉพาะตัว หรือมีเรื่องราวความทรงจำที่ไม่อยากให้สูญหายไปเก็บไว้อยู่
จากความหมายที่กล่าวมาจึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่า Non-Fungible Token มีความพิเศษเฉพาะตัวสูงมาก มักถูกถือครองเอาไว้เพื่อบ่งบอกถึงการเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ โดยจะไม่สามารถแบ่งสินทรัพย์ออกเพื่อซื้อ-ขายเป็นหน่วยย่อยแบบเดียวกับกลุ่มสกุลเงินดิจิทัลแบบเดิม ๆ หรือ Fungible Token เช่น Bitcoin , Ethereum และ Dogecoin เป็นต้น
Non-Fungible Token ต่างจาก Fungible Token อย่างไร
ต้องขอเกริ่นก่อนว่าสินทรัพย์ทางการเงินส่วนใหญ่บนโลกใบนี้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญหนึ่งอย่างนั่นก็คือ ต้องมีความเหมือนกันสามารถทดแทนกันได้ เช่น ธนบัตร 20 บาท 5 ใบ สามารถแลก ธนบัตร 100 บาท หนึ่งใบได้ หรือถ้าเพื่อนของคุณยืมเงิน 100 บาท จากคุณไปในวันที่เพื่อนนำเงินมาคืนคุณ คุณก็อาจจะไม่ได้ธนบัตรใบเดิมที่ให้เพื่อนยืมในวันนั้น นี่แหละครับคือคุณสมบัติของสินทรัพย์ทางการเงินโดยทั่วไป ซึ่ง Fungible Token เองก็มีคุณสมบัติทางการเงิน แบบเดียวกันเพราะเหรียญส่วนใหญ่ในตลาดคริปโตเคอเรนซีมีไว้เพื่อใช้ง่ายสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น
ซึ่งแตกต่างจาก Non-Fungible Token หรือ NFT ซึ่งเจ้า NFT ทุก ๆ เหรียญที่ออกมาจะมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน ไม่สามารถแทนที่กันได้ ดังนั้น NFT จึงไม่เหมาะกับการเป็นสินทรัพย์ทางการเงินแต่จะเหมาะกับการใช้งานประเภทอื่นมากกว่า ซึ่งการใช้งาน NFT ค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เหรียญ NFT จะออกมาในรูปของสินทรัพย์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ของ Limited งานศิลปะ ดนตรี เกม หรือแม้กระทั่ง พระเครื่อง ก็มีให้เห็นในโลกของ NFT แล้ว
NFT ต่างจากรูปภาพบนอินเทอร์เน็ต อย่างไร
โดยทั่วไปถ้าเราต้องการ รูปภาพ วิดีโอ หรืออะไรก็ตามเราเพียงค้นหาสิ่งที่เราต้องการจากโลกอินเทอร์เน็ต จากนั้นเมื่อเจอสิ่งทีต้องการคุณก็เพียงกด Ctrl+c และตามด้วย Ctrl+v เพียงเท่านี้คุณก็สามารถคัดลอกทำสำเนาสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตได้แล้ว โดยที่ตรวจสอบไม่ได้เลยว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นของจริงหรือของเลียนแบบกันแน่
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมศิลปินหลายท่านมักจะไม่ค่อยแสดงผลงาน หรือขายงานผ่านอินเทอร์เน็ต แต่จะแสดงงานแบบออฟไลน์เสียมากกว่า เพราะพวกเขากลัวโดนเลียนแบบ แต่ถึงอย่างนั้นในโลกออฟไลน์เราก็เคยเห็นข่าวที่พิพิธภัณฑ์เอาภาพวาดเลียนแบบมาจัดแสดงเพราะการตรวจสอบนั้นทำได้ค่อนข้างยากต้องใช้ความชำนาญเฉพาะ แถมภาพวาดบางภาพก็ตามหาของจริงได้ยากมากแทบจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครถือครองอยู่
ส่วน NFT นั้น จะว่าคัดลอกไม่ได้ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากครับ งานศิลปะอย่างเช่น รูปภาพ คุณก็ยังสามารถ แคปหน้าจอ และ คัดลอกทำสำเนาได้เหมือนเดิม แต่ว่ามันสามารถตรวจสอบได้ว่าอันไหนเป็นของแท้ ส่วนอันไหนที่เป็นแค่ของเลียนแบบ เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น NFT ทุกชิ้นจะมีการแท็กโค้ดเฉพาะตัวทำให้ถึงแม้จะเลียนแบบสินทรัพย์ได้แต่ก็ไม่สามารถเลียนแบบโค้ดได้อย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ยังสามารถตรวจสอบได้อีกว่า NFT นั้นใครเป็นเจ้าของอยู่ได้อีกด้วย ลองนึกภาพง่าย ๆ อย่างเช่น นาฬิกายี่ห้อแพง ๆ อย่าง ROLEX ในตลาดมีทั้งนาฬิกาปลอม และ นาฬิกาแท้ แต่ถามว่าของปลอมจะมีมูลค่าหลายล้านไหม คำตอบก็คือ ไม่ ใช่ไหมล่ะครับ แต่การตรวจสอบอาจทำได้ยากต้องเป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญและชื่นชอบนาฬิกายี่ห้อนี้ สรุปว่าของแท้ก็จะมีมูลค่า ส่วนของเลียนแบบก็จะด้อยค่าทำได้เพียงใส่สวยงามเท่านั้นเอง
ตลาดซื้อขาย NFT (NFT Market)
Opensea
Opensea คือ ตลาด NFT แห่งแรกและมีผู้ใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum โดยใน Opensea มี NFT ค่อนข้างหลากหลายทั้ง งานศิลปะ วิดีโอ ไอเทมในเกม หรือภาพมีม เป็นต้น ขอกระซิบเลยว่างาน NFT เจ๋ง ๆ รอคุณอยู่บน Opensea เพียบเลย!
เว็บไซต์ Opensea : CLICK
Decentraland
Decentraland เป็นแพลตฟอร์มโลกเสมือน ที่น่าสนใจ คือ มีการขาย NFT ในรูปแบบของที่ดินบนโลกเสมือน โดยเขามีความเชื่อว่าในอนาคตโลกจริง หรือ โลกเสมือนจะไม่มีความแตกต่างกันมาก เพราะคนจะหันมาอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้น ใครไม่อยากพลาดที่ดินทำเลงามรีบไปจับจองกันให้ไวเลยครับ…
เว็บไซต์ Decentraland : CLICK
NFT Art Finance
แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ใหม่ล่าสุดที่พึ่งจะเปิดตัว โดยทำงานอยู่บน Binance Smart Chain (BSC) ด้วยความที่มันอยู่บน BSC จึงทำให้น่าสนใจว่า ค่าธรรมเนียม (Gas) จะถูกกว่า แพลตฟอร์ม NFT ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum ขนาดไหน แต่ถามว่าถูกกว่าไหมโดยส่วนตัวผมมองว่าต้องถูกกว่าอย่างแน่นอน ด้วยความที่ BSC ใช้ระบบ Proof Of Stake ซึ่งแตกต่างจาก Ethereum ที่ซึ่งใช้ระบบ Proof Of Work ในการประมวนผลธุรกรรม ทาง Ethereum จึงมีต้นทุนมากกว่า BSC ทำให้ค่าธรรมเนียมจึงแพงจนหลายคนต้องส่ายหัว โดย NFT Art Finance เขาได้ออก Token ขึ้นมาโดยมีตัวย่อ NFTART ไว้ใช้สำหรับการทำธุรกรรมซื้อ-ขาย NFT บนแพลตฟอร์มของเขาเอง
เว็บไซต์ NFT Art Finance : CLICK
อยากซื้อ-ขาย NFT ทำอย่างไร
ในบทความนี้เราจะขออธิบายกระบวนการคร่าว ๆ และจะไปลงลึกในบทความถัดไปเพราะตลาดซื้อขาย NFT มีหลายแพลตฟอร์มและฟีเจอร์ก็จะมีความแตกต่างกันไป โดยคอนเซปพื้นฐานก็คือ ให้เราเตรียมงานของเราไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
ถัดไปสร้าง Wallet สำหรับเก็บเงิน คริปโตเคอเรนซี และทำการเปลี่ยนเงิน Fiat หรือเงินกระดาษ ของคุณเป็นคริปโตแนะนำว่าให้เปลี่ยนเป็นเหรียญ Ethereum เพราะ แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ของ NFT ในปัจจุบัน (2021) ยังทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum โดยเหรียญคริปโตนี้เราจะต้องใช้มันเพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Gas) สำหรับแพลตฟอร์ม NFT โดยแต่ละแพลตฟอร์มจะเก็บค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไป
สำหรับคนที่ต้องการนำผลงานไปแสดงบนแพลตฟอร์ม NFT ให้อัปโหลดไฟล์ และแปลงไฟล์ของคุณเป็น JPG , PNG , GIF , AI , PSD , SVG , WEBM ,WAV , OGG , GLB , GLTF , MP3 หรือ MP4 ก่อน จากนั้นก็อัพโหลดงานของคุณขึ้นไปได้เลยโดยการกำหนดราคาของคุณสามารถตั้งแบบเคาะราคาเอง หรือเปิดประมูลก็ได้ แถมยังกำหนดเงื่อนไขได้อีกด้วยอย่าลืมว่าจุดเด่นของ Ethereum คือ Smart Contact ทำให้ผู้ขายสามารถกำหนดเงื่อนไขในงานได้ ยกตัวอย่างเช่น เงื่อนไข หากคุณซื้องานนี้ คุณจะได้รับไฟล์ต้นแบบงานแถมกลับไปด้วย แบบนี้เป็นต้น
ส่วนคนซื้อคุณก็แค่เตรียมเงินไว้ใน Wallet ของคุณถูกใจงานไหนก็เลือกช็อปได้เลย ส่วนงานไหนต้องประมูลก็รอจนกว่าจะหมดเวลาประมูลแล้วค่อยกลับมาดูว่าจะได้งานชิ้นนั้นไหม และเมื่อคุณซื้อเรียบร้อย NFT ชิ้นนั้นก็จะไปอยู่ใน Wallet ให้คุณได้เชยชม
ตัวอย่าง NFT ในปัจจุบัน
ในบทความนี้เราจะขอนำเสนอรูปแบบ NFT เบื้องต้น เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำความเข้าใจ NFT ให้กระจ่างมากขึ้น โดยเราเลือกมาทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้
NFT ART (Crypto Art )
หากพูดถึงผลงานศิลปะภาพวาดเป็นตัวอย่างชั้นดีอย่างมาก ว่าทำไมเราถึงควรสร้างผลงานศิลปะเป็น NFT เนื่องจากเราคงจะเคยได้ยินข่าวที่ว่าศิลปินชาวจีนคนหนึ่งสามารถก็อปงานของศิลปินเอกระดับโลกขึ้นมาจนทำให้พิพิธภัณฑ์หลงเชื่อและซื้อไปจัดแสดง ซึ่งความจริงก็ได้เปิดเผยแล้วว่ารูปนั้นเป็นของปลอม และ พิพิธภัณฑ์ นั้นก็ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
แต่ถ้าผลงานศิลปะมาอยู่ในรูปของ NFT จะสามารถตรวจสอบได้ง่ายมาก เพราะ NFT ทุกชิ้นมีการแท็กโค้ดไว้ทั้งหมด เปรียบเสมือนมีใบ Certificate นั่นเอง เอาล่ะเราไปชมผลงาน NFT ART ที่ค่อนข้างสร้างความฮือฮาในปี 2021 กัน
Everydays : The First 5000 Day The Verge


งานนี้เรียกได้ว่าเป็นตัวจุดเชื้อเพลิงที่ทำให้เหล่าศิลปินหันมาสนใจ NFT เลยก็ว่าได้ โดยภาพดิจิทัลที่เราเห็นกันนี้ถูกสร้างขึ้นโดยคุณ Beeple ซึ่งเป็นการรวมกันของภาพวาดที่ศิลปินท่านนี้ได้วาดทุกวันเป็นเวลา 13 ปี โดยงานนี้ถูกประมูลไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมปี 2021 ด้วยมูลค่า 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ราว ๆ 2.2 พันล้านบาท ทำให้ศิลปินหลายคนเล็งเห็นว่านี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างรายได้และมีโอกาสได้แสดงผลงานของพวกเขา
CryptoPunk


งานศิลปะแนวพิกเซลอาร์ต ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่น 10,000 ภาพ โดยมีทั้งที่เป็นรูปมนุษย์ หรือ บางภาพก็จะเป็นรูปมนุษย์ต่างดาว โดยยิ่งแปลกก็จะยิ่งหายากและมีมูลค่าที่สูง โดยภาพที่ราคาสูงสุดตอนนี้คือภาพลำดับที่ 3100 ซึ่งถูกประมูลไปที่ 7.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 244 ล้านบาท
NFT MUSIC
หากเรานึกย้อนกลับไปสมัยก่อนในยุคที่เพลงมีมูลค่ามาก เทปเพลงหนึ่งตลับราคาแพงจนเรียกได้ว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมีเทปไว้ฟังเพลงส่วนตัว คนที่ไม่มีกำลังซื้อเทปก็ต้องเอาเงินไปหยอดตู้เพลง และนั่งรอจนกว่าจะถึงเพลงที่อยากฟัง แต่ในปัจจุบันตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตเพลงสูญเสียมูลค่าในตัวของมันไปเยอะมาก เราสามารถเลียนแบบไฟล์เพลงเก็บไว้กันได้ง่าย ๆ
NFT จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่ง NFT จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าเพลงนั้นเป็นของแท้หรือของปลอม
AUDIUS เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่อยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum ที่ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งแบบกระจายอำนาจ คล้ายกับมิวสิคสตรีมมิ่งแบบเดิม ๆ ที่เราใช้กันทุกวันในปัจจุบันอย่าง Spotify ด้วยคุณสมบัติการกระจายอำนาจทำให้ตัดตัวกลางอย่างค่ายเพลงออกไป ผลงานเพลงจะกลายเป็นสิทธิ์ขาดของศิลปิน ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันที่ศิลปินบางค่ายโดนขูดรีดขูดเนื้อ จนเพลงที่ทำออกมาแทบจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนเท่าที่ควรให้กับศิลปินเลย
ศึกษาเพิ่มเติม : AUDIUS (AUDIO TOKEN) อนาคตของระบบสตรีมเพลง คืออะไร
NFT GAME


ในวงการเกมเองก็ได้รับอิทธิพลจากกระแส NFT เช่นกัน สำหรับเกมเมอร์อย่างเรา ๆ ย่อมรู้ดีว่าสิ่งที่สำคัญกว่าฝีมือในการเล่นเกม นั่นก็คือไอเทม ยิ่งหายากยิ่งดี เล่นไม่เก่งแต่ของต้องแน่นคือนิพพานของเหล่าเกมเมอร์ ซึ่ง NFT จะเข้ามาช่วยเพิ่มความยูนีคของไอเทมในเกม เพราะไอเทมแต่ละชิ้นคุณจะเป็นผู้ครอบครองมันแต่เพียงผู้เดียว หรือแม้กระทั่งเกมเลี้ยงแมวชื่อดังอย่าง Cryptokitties คุณจะได้เลี้ยงแมวของคุณในรูปแบบ NFT ซึ่งแมวของคุณจะมีแค่ตัวเดียวในโลกไม่เหมือนใคร สอดคล้องกับโลกออฟไลน์เลยใช่ไหมครับ เพราะหากแมวที่บ้านของคุณสามารถโดนคนอื่นคัดลอกไปเลี้ยงได้คงจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากแน่ ๆ แต่ในโลกอินเทอร์เน็ตปัจจุบัน มันสามารถทำแบบนั้นได้น่ะสิ เราจึงจำเป็นต้องมี NFT เข้ามาช่วยสร้างความเป็นยูนีคขึ้นมานั่นเอง
จากที่กล่าวมาจะพบว่า เหรียญ NFT ถือเป็นอีกความแปลกใหม่ในวงการสกุลเงินดิจิทัล และเริ่มมีคนให้ความสนใจกันเยอะมากขึ้นทำให้สามารถตอบคำถามได้แล้วว่า NFT คืออะไร ทำไมศิลปินหลายคนเลือกขายงานในรูปแบบ NFT ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอนาคตเท่านั้น เราต้องดูกันต่อไปว่า NFT และ Technology Blockchain จะไปได้ไกลกว่านี้สักแค่ไหน และจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างไรบ้าง