วันนี้ผมจะมาพูดถึงเทคโนโลยี ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกของเรา สิ่งนั้นก็คือ Blockchain นั่นเอง แล้ว Blockchain Technology คืออะไร หลายท่านเมื่อได้ยินคำว่า เทคโนโลยี Blockchain สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงคงจะเป็น Cryptocurrency หรือ Bitcoin แต่ทุกท่านรู้ไหมครับว่า Blockchain นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของ สกุลเงินดิจิทัล เท่านั้น โดยเจ้า Blockchain จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอย่างแน่นอน แล้วเหตุผลที่มันจะถูกนำมาใช้คืออะไรล่ะ เดี๋ยวเราลองมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้เลยครับ
Blockchain Technology คืออะไร
Blockchain Technology คือ คือ Database (ชุดข้อมูลที่จัดเก็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ บนระบบคอมพิวเตอร์) ประเภทหนึ่ง โดยผู้คิดค้น Blockchain ต้องการที่จะทำระบบ Digital Hamstamp หรือก็คือ ระบบป้องกันการแก้ไข หรือ คัดลอกเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์
ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิคโดยทั่วไป จะสามารถถูกคัดลอก หรือแก้ไขได้โดยแทบจะไม่มีระบบอะไรมาป้องกัน ส่วนระบบ Digital Hamstamp ถ้าจะให้เห็นภาพอยากให้ลองนึกถึงการ สร้าง สติกเกอร์ไลน์ ครับ ซึ่งเป็นระบบเดียวกัน เมื่อเราสร้างสติ๊กเกอร์ไลน์ ขึ้นมาระบบจะบันทึกที่มาที่ไปว่าสติ๊กเกอร์นี้มาจากไหน และ จะไม่สามารถ คัดลอก หรือ แก้ไข ได้นั่นเอง
หลักการทำงานของ Blockchain Technology
Blockchain จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนประกอบใหญ่ ๆ คือ Block (กล่องขนาดใหญ่) และ Chain (โซ่) โดย Block จะมีหน้าที่เก็บข้อมูล พร้อมทั้งเข้ารหัสเพื่อไม่ให้ใครสามารเปิดดูได้ และ Chain จะมีหน้าที่เชื่อมต่อ Block ก่อนหน้า และ Block ถัดไป


ยกตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลทางการเงิน โดย Block แรก จะถูกเก็บข้อมูลของบัญชีนาย ก มีจำนวณเงิน 5,000 บาท และ นาย ก ทำการโอนเงิน ไปยังบัญชีของนาย ข จำนวณ 1,500 บาท ข้อมูลการโอนนี้ก็จะถูกบันทึกไว้ใน Block ถัดไป โดยเชื่อมด้วย Chain กับ Block แรก โดยธุรกรรมเหล่านี้จะถูกต่อเป็น Block กันไปเรื่อย ๆ และข้อมูลของ Block จะถูกส่งสำเนาไปยัง คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่บน Network เป็นลักษณะของ Peer To Peer Network จุดประสงค์ก็คือ เพื่อที่จะป้องกันการถูก Hack ระบบนั่นเองครับ
โดยระบบ แบบ Peer To Peer เป็นอะไรที่น่าจะทำให้เหล่า Hacker เหงื่อตกไปตาม ๆ กันเลยทีเดียว เพราะว่า หากเกิดการ Hack ขึ้นมา ระบบจะทำการแจ้งเตือน และจะทำการตัด Chain รวมถึง Block ต่อ ๆ ไป ทันที ทำให้ Hacker ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้ ซึ่งเมื่อตัดออกไปแบบนี้ข้อมูลทุกอย่างจะหายไปหมดไหม? คำตอบคือไม่ครับ ด้วยระบบ Peer To Peer Network ระบบจะเก็บสำเนาข้อมูลไว้ใน Peer อื่น หรือ คอมพิวเตอร์ ที่อยู่บน Network เครื่องอื่นนั่นเอง และจะช่วย Recover Blockchain เครื่องนั้นให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกด้วย
นั่นหมายความว่าหากต้องการจะ Hack เพื่อแก้ไขข้อมูลเหล่านั้น Hacker จะต้องโจมตีฐานข้อมูลที่ถูกกระจายออกไปทั้งหมดในเวลาพร้อม ๆ กัน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นทำได้ยากมาก
Blockchain เกี่ยวอะไรกับ เงินดิจิทัล
เงินดิจิทัล คือ สกุลเงินที่ถูกใช้งานผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต แต่เนื่องจากอะไรก็ตามที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นส่วนใหญ่ สามารถคัดลอกและทำซ้ำขึ้นมาได้ หากเป็นแบบนั้นชาวเน็ตคงจะเสกเงินขึ้นมากันเป็นว่าเล่นเลยใช่ไหมล่ะครับ ดังนั้นการที่เราจะใช้ เงินดิจิทัลจึงจำเป็นต้องมี ตัวกลาง และ แน่นอนว่าตัวกลางทางการเงินที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คือ ธนาคาร แต่หลายครั้งเราคงเคยเห็นข่าวในอดีต ที่เกิดการล้มละลายของธนาคารในช่วงของวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทำให้เราไม่สามารถถอนเงินของเราออกมาได้
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ ความล่าช้าโดยเฉพาะการทำธุรกรรมที่มีปลายทางอยู่นอกประเทศ และ แน่นอนว่า ธนาคาร ไม่ได้ใช้ระบบ peer to peer network ในการจัดเก็บข้อมูลทำให้เมื่อ Hacker ต้องการ Hack ระบบก็เพียงโจมตีไปที่ศูนย์กลางที่เดียวเลย
สรุปได้ว่า Blockchain เองก็ทำหน้าที่คล้ายกับ ธนาคาร โดยเป็นตัวกลางทางการเงินดิจิทัล มีระบบการจัดการข้อมูลแบบ peer to peer network อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งมีความปลอดภัยขั้นสูง และมีความรวดเร็วในการทำธุรกรรมมากกว่าธนาคารเยอะมาก ตัวอย่างเช่น การโอนเหรียญ Bitcoin ไปยังต่างประเทศ ธุรกรรมนั้นแทบจะสำเร็จได้ในทันที เมื่อเทียบกับ การโอนเงินผ่านธนาคารไปยังต่างประเทศที่ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 วัน คงจะมองเห็นภาพใช่ไหมครับว่าทำไม เทคโนโลยี Blockchain จะแพร่หลายในอนาคตอย่างแน่นอน
Blockchain Technology ทำอะไรได้อีก นอกจากเป็นตัวกลางทางการเงินดิจิทัล


ต้องบอกว่าหลายอย่างเลยครับ ซึ่งในอนาคตเราคงจะได้เห็นการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในอุตสาหกรรมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
การแพทย์/สุขภาพ
ในเรื่องของการแพทย์ ผู้ป่วยคนนี้เป็นโรคอะไร Blockchain จะทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ใน Block นึง และผู้ป่วยคนนี้รับยาอะไร มีประวัติแพ้ยาอะไร จะถูกเก็บไว้ใน Block ถัด ๆ ไป โดยทุก Block เชื่อมต่อกันด้วย Chain และ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกทำสำเนากระจายไปบน network ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลไหน โรงพยาบานั้นก็จะสามารถดึงข้อมูลของผู้ป่วยมาประกอบการรักษาให้ตรงจุดมากขึ้น และข้อมูลต่าง ๆ แน่นอนว่าจะถูกเข้ารหัสเพื่อความเป็นส่วนตัว และจะเปิดเผยข้อมูลให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
การบัญชี
แน่นอนครับว่า หากคุณเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นพนักงานบัญชี จะรู้ว่าการจะปิดงบนั้นต้องใช้แรงกายและเวลามากขนาดไหน และบางครั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาด ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยบันทึกรายการทางบัญชีต่าง ๆ ระหว่างคู่ค้า และพวกเขายังสามารถแชร์งบข้อมูลบัญชีแยกประเภทกันได้อีกด้วย
กฎหมาย
Blockchain ยังสามารถใช้ในการบันทึกข้อตกลงสัญญา ซึ่งจะถูกดำเนินการโดยคอมพิวเตอร์ เรียกว่า Smart Contact (สัญญาอัจฉริยะ) ซึ่งสัญญาจะถูกแปลงเป็น โค้ด หรือ ภาษาคอมพิวเตอร์ ที่มีการระบุเงื่อนไข และผลของสัญญาเมื่อมีเหตุตรงตามเงื่อนไข แล้วนำคำสั่ง โค้ด ไปใส่ไว้ใน Blockchain โดย สัญญาอัจฉริยะจะทำงานตามชุดคำสั่งนั้นโดยอัตโนมัติ และ แน่นอนว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้
อสังหาริมทรัพย์
การทำธุรกรรมเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ หลายครั้ง ขาดความโปร่งใส ทั้งปัญหาที่เกิดจากงานเอกสาร ความผิดพลาดของการจัดเก็บข้อมูล และ กลโกงต่าง ๆ ซึ่งระบบ Blockchain จะเข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่ว่าที่ดินเป็นของใคร เคยโอนกรรมสิทธิ์ไปให้ใคร และแน่นอนว่าข้อมูลทุกอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ดังคำที่ว่าสิ่งใดอยู่บนอินเทอร์เน็ตสิ่งนั้นจะคงอยู่ตลอดไป…
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Blockchain Technology ในอีกหลายเรื่อง เช่น การทำ E-Voting เพื่อป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือ การทำดิจิทัลไอดีแทนบัตรประชาชน เป็นต้น ซึ่งการใช้งานเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากอ่านมาจนถึงตรงนี้ทุกคนคงจะเห็นภาพว่า Blockchain Technology คืออะไร และเทคโนโลยีนีนี้ ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ แบบที่เราไม่ทันรู้ตัว